สารพันปัญหา คาใจ

สารพันปัญหา คาใจ สารพันปัญหา คาใจ

[ ถาม ] เวลานั่งสมาธิเกิดทุกขเวทนา ปวดหลัง หรือปวดเข่ามาก มีวิธีแก้ไขอย่างไร ?

  • 2024,Apr 16
  • 6,614

[ ตอบ ] ทน ไม่ต้องแก้ ทำต่อไป ในทางธรรมอาการป่วยเมื่อยไม่มีวิธีแก้ ห้ามเถรตรงว่าทายาหม่อง หรือว่าเหยียดแข้งเหยียดขา ออกไปเอ็กเซอร์ไซด์ แล้วเข้ามานั่งใหม่ อย่างนั้นไม่ใช่วิธีการแก้แบบทางธรรม ถ้าปวดขึ้นมาในขณะที่เราลั่นสัจจะว่าจะนั่ง แล้วทำอย่างไร ? ช่วยไม่ได้ ตรงนี้แหละที่เขาบอกว่ามีคำว่า มอบกายถวายชีวิต เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกายในขณะที่เราได้มอบกายไปแล้ว เราได้ลั่นสัจจะไปแล้ว ตายก็ตาย ต้องใช้ตัวนี้ ตัวนี้จริงๆ ก็คือตัวสัจจะนั่นเอง ใจเด็ด ทน ใช้ขันติบารมีเข้าไปทันที เพียรที่จะนั่งให้ครบตามที่กำหนดตกลงไว้ เสร็จแล้วมันก็จะหายเอง มันหลุดเอง มันจะเกิดการพิจารณาขึ้น...ทำไม ? นั่งอย่างอื่นไม่ปวด พอบอกนั่งสมาธิ มันรู้ด้วยเหรอว่านั่งสมาธิแล้วจะต้องปวด บางทีมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นั่งกินข้าว นั่งสนุกสนานเฮฮาอะไรต่างๆ นี่ นั่งได้หลายชั่วโมง พอบอกว่านั่งสมาธิ ปวดเร็วแท้ มาเร็วแท้ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แสดงว่าท่านมีบุญ

...

การปฏิบัติต้องการให้เห็นทุกข์ พอนั่งแป๊ปเดียวเห็นเลย แสดงว่าทุกข์มันมาเร็ว มาเร็วแล้วทำอย่างไร ? ก็ดูมัน รู้...รู้อยู่ในเวทนา มีสติรู้อยู่ในเวทนา เข้าหลักของสติปัฏฐาน ๔ รู้อยู่ในกาย ปวดที่ไหน ? ปวดที่กาย กายเป็นอะไร…ปวด ปวดคือทุกขเวทนา รู้อยู่ในทุกขเวทนาที่มันปวด ปวดตรงไหน ปวดขา...ดูตรงขา ปวดหลัง...ดูที่หลัง ดูแล้วมันไม่หาย ดูจนกว่ามันจะหาย แล้วถ้าเกิดวันนี้มันไม่หายล่ะ อย่าดั้นเดา ก็ลองดูมันไปทั้งวันสิ ว่ามันจะปวดทั้งวันจริงหรือเปล่า ผลที่สุดไม่หรอก มันก็จะปวด แต่ปวดแบบจริงๆ เลยน่ะ ปวดเหมือนแกล้ง น้ำตาเล็ดน้ำตาร่วง แต่ไม่ลุก ไม่เปลี่ยน นั่งดูมันอย่างนั้น ในที่สุดแล้วมันก็หายไป หายแบบขาดนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าค่อยๆ หายปวดทีละน้อย ไม่ใช่นะ อยู่ๆ หายปวดปั๊ปก็มี มันเหมือนมันรู้ พอไปสุดเส้นปุ๊ป มันตกปุ๊ปเลย มันไม่ค่อยๆ จางลงด้วยนะ หาย พอหายปุ๊ปใจชื้นเกิดปีติ โอ้…เราเกือบแพ้มัน ที่แท้นี่เอง มันเป็นอย่างนี้เอง ทุกครั้งเราเลิกก่อนทุกที แต่ครั้งนี้แหละที่เราดูมัน แล้วมันก็หยุดเอง ทุกอย่างเกิดขึ้น...แล้วทุกข์นั้นก็ดับไป เกิดเอง ก็ดับเอง เราเป็นผู้ดู ผู้รู้อยู่เฉยๆ ต้องใช้ธรรมะอย่างนี้เข้าไปแก้ไข

บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๖